วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์ของศิลปะ สถาปัตยกรรม ชุมชนเมืองน่าอยู่


ความสัมพันธ์ของศิลปะ สถาปัตยกรรม ชุมชนและเมืองน่าอยู่ (1)
สิปประภา

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทนำ

ศิลปะ คือสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อความงามและความพึงพอใจ เป็นการสนองตอบทางอารมณ์
สถาปัตยกรรม คือศิลปะแขนงหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยตรง หน้าที่ของสถาปัตยกรรมหาใช่เพียงเพื่อประโยชน์ใช้สอยในด้านการอยู่อาศัยหรือใช้พื้นที่ในการทำกิจกรรมเท่านั้น แต่หน้าที่โดยตรงที่สำคัญอีกประการหนึ่งของสถาปัตยกรรมก็คือ การเป็นผลงานศิลปะที่มนุษย์สามารถเสพสุนทรียภาพได้ตลอดเวลา การออกแบบสถาปัตยกรรมที่สวยงาม มีคุณค่าทางศิลปะและการใช้สอย สามารถช่วยกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ได้ การกำหนดพฤติกรรมมนุษย์อย่างสร้างสรรค์ผ่านกระบวนการออกแบบสถาปัตยกรรม นอกจากจะเป็นการสร้างคุณค่าทางความงามให้แก่ชุมชนแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนามนุษย์ได้อีกด้วย
ชุมชน หรือ เมือง คือแหล่งที่รวมมนุษย์ให้เข้ามาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน การที่มนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นชุมชน ไม่ว่าจะใหญ่ เล็ก เก่าแก่ หรือชุมชนใหม่ ชุมชนที่หนาแน่นหรือบางเบา ย่อมก่อให้เกิดวัฒนธรรมในชุมชนนั้นๆ ทั้งวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน วัฒนธรรมการใช้ภาษา การแต่งกาย ศิลปะ ประเพณี สิ่งก่อสร้าง ฯลฯ
ปัจจุบัน ศิลปะได้ถูกนำมาใช้ให้เกิดผลบวกในหลายพื้นที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่พัฒนาแล้วหรือด้อยโอกาส มีข้อพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นว่าศิลปะสามารถทำให้มนุษย์ได้รับการพัฒนามากขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจ้างงาน การมีส่วนร่วมในสังคม รวมถึงการพัฒนาในด้านอารมณ์ พฤติกรรมการใช้ชีวิต
ในชุมชน ศิลปะถูกนำมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่าหลายแห่งได้ปฏิรูปชุมชนในท้องถิ่น โดยศิลปะสามารถทำหน้าที่ภายในชุมชนท้องถิ่น ได้ทำนองเดียวกับที่สามารถทำหน้าที่ภายในโรงเรียน เช่น การเพิ่มพูนพัฒนาการของปัจเจกบุคคลด้วยการช่วยสร้างความมั่นใจ ทักษะและแรงจูงใจ ช่วยเหลือในการพัฒนาทางด้านสังคมเพราะทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้รู้จักเพื่อนใหม่และเกิดความสนใจในประเด็นใหม่ๆ ช่วยปรับปรุงภาพลักษณ์ของท้องถิ่นที่ชาวบ้านมีความรู้สึกแง่บวกมากขึ้นต่อถิ่นที่ตนอยู่อาศัยและยังช่วยให้ผู้ร่วมกิจกรรมมีความรู้สึกที่ดีและแข็งแรงขึ้นจากการมีส่วนร่วมในโครงการศิลปะ

ศิลปะ สถาปัตยกรรม เมืองและชุมชนน่าอยู่ มีความสัมพันธ์กันและมีผลต่อการพัฒนามนุษย์อย่างไร จะขอกล่าวในรายละเอียดต่อจากนี้ไป



ความหมายของศิลปะ
ศิลปะ แต่เดิมหมายถึง งานช่างฝีมือ เป็นงานที่มนุษย์ใช้สติปัญญาสร้างสรรค์ขึ้นด้วย ความประณีตวิจิตรบรรจง ฉะนั้นงานศิลปะจึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นผลงานที่มนุษย์ใช้ปัญญา ความศรัทธา และความพากเพียรพยายามสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่
คำว่า Art  ตามแนวสากลนั้น มาจากคำ Arti และ Arte ซึ่งเริ่มใช้ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา ความหมายของคำ Artiนั้น หมายถึงกลุ่มช่างฝีมือในศตวรรษที่ 14 , 15 และ 16 คำ Arte มีความหมายถึงฝีมือ ซึ่งรวมถึงความรู้ของการใช้วัสดุของศิลปินด้วย เช่น การผสมสีลงพื้นสำหรับการเขียนภาพสีน้ำมัน หรือการเตรียมและการใช้วัสดุอื่นๆ  
การจำกัดความให้แน่นอนลงไปว่าศิลปะคืออะไรนั้น เป็นเรื่องยาก เพราะว่าศิลปะเป็นงานสร้างสรรค์ 
ศิลปินมีหน้าที่สร้างงานที่มีแนวคิดและรูปแบบแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา ทฤษฎีศิลปะในสมัยหนึ่งอาจขัดแย้งกับของอีกสมัยหนึ่งอย่างตรงกันข้าม และทฤษฎีเหล่านั้นก็ล้วนเกิดขึ้นภายหลังผลงานสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนแปลงและก้าวล้ำหน้าไปก่อนแล้วทั้งสิ้น 
อย่างไรก็ตาม ทัศนะเกี่ยวกับความหมายของศิลปะได้ถูกกำหนดตามการรับรู้ และตามแนวคิดต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยบุคคลต่างๆ ซึ่งพอยกตัวอย่างได้ดังนี้
ศิลปะ คือ ผลแห่งความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่แสดงออกมาในรูปลักษณ์ต่างๆ ให้ปรากฏซึ่งสุนทรียภาพ ความประทับใจ หรือความสะเทือนอารมณ์ ความอัจฉริยภาพ พุทธิปัญญา ประสบการณ์ รสนิยมและทักษะของแต่ละคน เพื่อความพอใจ ความรื่นรมย์ ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีหรือความเชื่อทางศาสนา (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, 2530)
ศิลปะ คือ ผลงานการสร้างสรรค์รูปลักษณ์แห่งความพึงพอใจขึ้นมา และรูปลักษณ์ก่อให้เกิดอารมณ์
 รู้สึกในความงาม อารมณ์รู้สึกในความงามนั้นจะเป็นที่พึงพอใจได้ก็ต่อเมื่อ ประสาทสัมผัสของเราชื่นชมในเอกภาพ หรือความประสมกลมกลืนกันในความสัมพันธ์อันมีระเบียบแบบแผน (Herbert Read, 1959)
ศิลปะ คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อแสดงออกซึ่งอารมณ์  ความรู้สึก สติปัญญา ความคิด และ/ หรือความงาม (ชลูด นิ่มเสมอ, 2534)
ศิลปะ เป็นผลงานที่เกิดจากการแสดงออกของอารมณ์ ปัญญา และทัศนคติ รวมทั้งทักษะความชำนิ ชำนาญของมนุษย์ การสร้างสรรค์งานศิลปะในปัจจุบันมีแนวโน้มไปในทางการสร้างสรรค์ และการแสดงออกของอารมณ์และความคิด ดังนั้น งานศิลปะนั้นอย่างน้อยที่สุดควรก่อให้เกิดอารมณ์ และ ความคิดสร้างสรรค์ กล่าวคือ เป็นงานที่สื่อให้ผู้ชมเกิดจินตนาการ นอกจากนั้น งานศิลปะที่ดีควรจะมีคุณค่าทางความงาม
ซึ่งเกิดจากการใช้องค์ประกอบของสุนทรียภาพ (วิรัตน์ พิชญ์ไพบูลย์, 2524)
ศิลปะ เป็นสะพานที่เชื่อมคติความเชื่อทางวัตถุกับทางจิตใจ เมื่อผู้ใดเข้าใจและรู้คุณค่าของศิลปะแล้ว ผู้นั้นก็อาจจะถึงซึ่งความสุขที่แท้จริง และได้ให้แนวคิดอีกความหมายหนึ่งว่า ศิลปะ หมายถึงความงามอันเป็นความพากเพียรของมนุษย์ นอกจากจะใช้ความพยายามด้วยมือและความคิดแล้วยังต้องมีการพวยพุ่งแห่งพุทธิปัญญาและจิตออกมาด้วย หมายถึงว่า ต้องมีใจจดจ่อกับสิ่งที่ทำเพื่อให้เกิดปัญญา ความคิดและความรู้สึกพอใจให้พวยพุ่งออกมาและแทรกเข้าไปในสิ่งนั้น (ศิลป์ พีระศรี)

ศิลปะกับมนุษย์

มนุษย์ นับว่าเป็นสัตว์ชนิดเดียวในโลกที่สามารถรับรู้และสร้างสรรค์ศิลปะได้ ศิลปะจึงมีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์อย่างมหาศาล เพราะศิลปะมีส่วนช่วยเสริมสร้างจิตใจของมนุษย์ให้สูงขึ้น กล่อมเกลาจิตใจให้อ่อนโยน ทำให้เกิดความกลมกลืน ความรักสามัคคีต่อกัน งานศิลปะถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อสนองความต้องการทางอารมณ์และจิตใจ เป็นเครื่องมือระบายและถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก จากมนุษย์สู่มนุษย์ ในขณะเดียวกันก็มีส่วนช่วยเสริมสร้างและพัฒนาสติปัญญาของมนุษย์ด้วย
ในอดีตที่ผ่านมา ศิลปะมักจะถูกจำกัดให้อยู่แต่ในแวดวงของศิลปินผู้สร้างสรรค์และสังคมชั้นสูงผู้สนใจเสพผลงานศิลปะเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน ศิลปะถูกยอมรับว่ามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับมนุษย์ในทุกๆ กลุ่ม และมีผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ด้วย
ช่วงเวลาหนึ่งของคนในวงการทัศนศิลป์ไทยในอดีตเคยมีความเชื่อว่า โลกของศิลปกรรมเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์ เป็นโลกที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง เป็นอิสระไม่ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยใดๆ ดังนั้นหากใครทำแนวคิดเรื่องของการดำรงชีวิตของศิลปะไปเชื่อมโยงกับสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ทั้งภายในและภายนอกประเทศแล้ว ก็จะถูกมองว่า เป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง กระทั่งอาจถูกตำหนิว่าเป็นการทำให้ฐานะของศิลปะต้องมลทิน และฐานะต่ำลง
แต่เมื่อกาลเวลาผ่านพ้นไปพร้อมกับการพัฒนาองค์ความรู้ของทัศนศิลป์มีความเข้มแข็งมากขึ้น ความคิดเรื่องการดำรงอยู่ของศิลปะก็ได้รับการยอมรับว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับบริบทของสังคมอย่างมิอาจแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด เมื่อได้ทำการวิเคราะห์ผลงานศิลปะของกลุ่มศิลปินในช่วงเวลาต่างๆ ของประวัติศาสตร์ซึ่งไม่เพียงแต่จะอาศัยแกนความรู้ของศิลปะเท่านั้นทว่าก็มีการนำความรู้เกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมเข้ามาวิเคราะห์ร่วมในเชิงสัมพันธ์ด้วย
การเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ได้ส่งผลกระทบต่อสังคมโลกอย่างใหญ่หลวงและส่งผลสะเทือนต่อวงการศิลปะและวัฒนธรรมอย่างรุนแรง แน่นอนว่า การที่โลกพัฒนาเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ เทคโนโลยีสารสนเทศได้ส่งผลทำให้มนุษย์ทั่วทุกมุมโลกสามารถเรียนรู้   รับรู้เหตุการณ์ความเคลื่อนไหวต่างๆ ทั่วทุกมุมโลกได้ในเวลาเดียวกัน ยิ่งการพัฒนาการสื่อสารที่เป็นการนำสื่อต่างๆ มาทำงานร่วมกันของแฟกซ์ คอมพิวเตอร์ ข่ายงานอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีอื่นๆ ก็ยิ่งทำให้กลายเป็นระบบที่ยิ่งใหญ่อันเกิดจากการหลอมรวมกันของสื่อชนิดต่างๆ (ขนทอง ลอเสรีวานิช,2537)
ซึ่งผลที่ตามมาเฉพาะทางด้านศิลปกรรมก็ส่งผลทำให้การรับรู้การเปลี่ยนแปลง ในวงการศิลปะความก้าวหน้าในวงการศิลปะ การสร้างสรรค์ผลงานศิลปวัฒนธรรม (Contemporary Art) จากศิลปินทั่วโลก   ถูกย่นระยะทั้งเวลาและสถานที่ให้มีลักษณะที่ร่วมสมัยโดยความหมายมากขึ้น
และด้วยเหตุผลนี้เอง การเคลื่อนไหวในวงการทัศนศิลป์ไทยในห้วงเวลา 1 ทศวรรษที่ผ่านมา จึงถือว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับกระแสการพัฒนาโลกที่มีเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงที่สำคัญ ดังนั้นในเวทีการแสดงผลงานศิลปะของศิลปินไทย ภาพของศิลปินในสังคมยุคสารสนเทศจึงปรากฏขึ้น   ด้วยการเสนอรูปแบบและกลวิธีการสร้างงานศิลปะที่ร่วมสมัยกับศิลปะยุคหลังสมัยใหม่กับงานศิลปะที่ก้าวข้ามประเภท ก้าวข้ามสาขา ที่ร่วมสมัยกับการสร้างงานศิลปะแห่งการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีกับจินตนาการ ตลอดจนผลงานศิลปะที่อาศัยการบูรณาการความรู้จากหลายองค์ความรู้เข้ามาอยู่ร่วมกัน
สภาพการเคลื่อนไหวดังกล่าว ไม่ใช่จะเกิดเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ได้แผ่กระจายไปทั่วทั้งทวีปเอเชีย โดยประเทศที่ประกาศตัวว่าเป็นประเทศสังคมนิยมก็ได้รับผลกระทบเทือนทางด้านศิลปวัฒนธรรมภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของโลกคลื่นลูกที่สามอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง
อย่างไรก็ตามประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียอย่างโดดเด่นก็คือญี่ปุ่น โดยนับตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นก็มุ่งมั่นทุ่มเทศึกษาความเจริญเติบโตของโลกตะวันตกในทุกด้านอย่างมีจุดหมาย จนได้รับการยอมรับในปัจจุบันว่าเป็นประเทศผู้นำทางด้านศิลปะในภูมิภาคเอเชีย นอกจากจะเป็นผู้นำทางด้านศิลปะในภูมิภาคเอเชียแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางความร่วมมือและให้การสนับสนุนวงการศิลปะในภูมิภาคเอเชีย   ในต้นปี พ.ศ.2542 ญี่ปุ่นได้เปิดพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งเอเชียของทุกประเทศ พร้อมกับเป็นศูนย์รวมการเคลื่อนไหวทางศิลปวัฒนธรรมที่ควรแก่การศึกษาและการติดตาม (อำนาจ เย็นสบาย, 2541)
ทั้งนี้จากการเคลื่อนไหวในวงการศิลปะแห่งภูมิภาคเอเชียในยุคข้อมูลข่าวสาร การแสดงนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมแห่งเอเชียครั้งที่ 4 ที่ฟูโกโอกะ ณ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปีพ.ศ. 2537 ยูชิโรโซจิ มาซาฮิโร   ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์แห่งฟูโกอูกะ ได้แสดงความเห็นต่อภาพรวมของผลงานศิลปะของศิลปินจำนวน 18 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชียเอาไว้ว่า เรื่องราวที่แสดง (จากสังคมและความเป็นจริง) นั้น แสดงออกโดยวิธีการใหม่ รูปแบบใหม่ที่หลากหลาย (ทั้งอินสตอเลชั่นและศิลปะการแสดง) และสื่อวัสดุใหม่ๆ ศิลปวัฒนธรรมของเอเชียที่เคยได้รับการเรียนรู้จากโลกตะวันตกกำลังจะผ่านไปสู่กรอบของการสร้างสรรค์งานที่ท้าทายว่าด้วยการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ยุคหลังร่วมสมัยของเอเชีย
ไม่เพียงแต่การเคลื่อนไหวทางศิลปวัฒนธรรมจากประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ภายใต้สังคมยุคสารสนเทศ ประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลี จีน และในช่วงหลังจากปี 2000 ประเทศไทยก็น่าเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการเคลื่อนไหวด้านศิลปกรรมที่น่าจับตามองเช่นกัน
ในประเด็นที่เกี่ยวกับการพัฒนามนุษย์ ได้มีการศึกษาวิจัยที่พิสูจน์ว่า ศิลปะช่วยให้มนุษย์เกิดพัฒนาการที่ดีและได้รับประโยชน์จากศิลปะ ได้แก่
ความสนุกสนาน ความตื่นเต้น ความพอใจมากขึ้นและผ่อนคลายจากความตึงเครียด
ทักษะและความรู้ในรูปแบบของศิลปะเฉพาะด้านเพิ่มขึ้น
ความรู้ในด้านสังคมและวัฒนธรรมที่เพิ่มขึ้น
พัฒนาการที่ก้าวหน้าในด้านส่วนตัวและด้านสังคม
การพัฒนาทักษะการคิดและความคิดสร้างสรรค์
ทักษะการสื่อสารและการแสดงความรู้สึกมีความสละสลวยมากขึ้น
การศึกษาวิจัยยังได้ยืนยันถึงผลต่างๆ เช่น ความนับถือตนเอง พัฒนาการส่วนบุคคล และทางด้านสังคมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีส่วนโดยตรงในการสลายความไม่พอใจและการแยกตัวจากสังคมในหมู่วัยรุ่น
รายงานสรุปของหน่วยงานด้านพัฒนาสุขภาพของประเทศอังกฤษ ปี พ.ศ. 2543 เกี่ยวกับผลกระทบของศิลปะที่มีต่อสุขภาพและความอยู่ดีมีสุข ได้ระบุถึงผลดีที่ได้ 2 ประการหลักๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษา ได้แก่
ประชาชนได้รับการจ้างงานมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นผลของโครงการที่ทำให้ได้เรียนรู้ทักษะเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับศิลปะ
เกิดทักษะที่เป็นผลพลอยได้ เช่น วินัยและการประสานงาน
ในรายงานสรุปต่อสภาด้านศิลปะของอังกฤษ (Arts Council) ได้มีผู้ให้ข้อสังเกตว่า รายงานของหน่วยงานด้านพัฒนาสุขภาพยังได้ระบุถึงจำนวนที่เพิ่มขึ้นของผู้ที่เชื่อว่าคุณค่าที่สำคัญของโครงการศิลปะอาจอยู่ที่การได้แสดงออกทางอารมณ์ โดยคนจะใช้ศิลปะเพื่อแสดงออกถึงความต้องการ ความคับข้องใจและความรู้สึกต่างๆ ที่ไม่สามารถเปล่งออกมาได้ด้วยคำพูด
ในรายงานของสำนักคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2541 : ยุทธศาสตร์แห่งชาติของอังกฤษเพื่อการฟื้นฟูละแวกที่อยู่อาศัย ได้อธิบายถึงการหมักหมมของปัญหาต่างๆ ที่โยงใยในละแวกที่อาศัยที่เสื่อมโทรม เช่น การว่างงาน อาชญากรรม การเจ็บป่วยในอัตราที่สูงและคุณภาพการศึกษาที่ต่ำ ซึ่งสรุปได้ว่า ศิลปะ กีฬา กิจกรรมทางวัฒนธรรมและนันทนาการสามารถช่วยฟื้นฟูถิ่นที่อาศัยและทำให้สุขภาพ อาชญากรรม การจ้างงานและการศึกษาในชุมชนที่ขาดโอกาสมีสภาพดีขึ้น
ดังข้างต้นได้กล่าวถึงศิลปะ แต่ในส่วนต่อจากนี้ไปจะขอกล่าวถึงศิลปะอีกแขนงหนึ่งซึ่งก็คือสถาปัตยกรรม

ความหมายของสถาปัตยกรรม
เมื่อพูดถึงคำว่า สถาปัตยกรรม” หลายคนอาจนึกสงสัยว่า สถาปัตยกรรมมีความเกี่ยวข้องกับศิลปะอย่างไร แต่เชื่อว่าเมื่อเอ่ยถึงคำนี้ สิ่งแรกที่เรานึกถึงมักจะเป็นภาพตึกสูงๆ วัด หรือบ้านหลังโตๆ แท้ที่จริงแล้ว คำว่า สถาปัตยกรรม มีความหมายมากกว่านั้น สถาปัตยกรรม หมายถึง พื้นที่ว่างที่ถูกจัดให้เกิดการใช้สอย จะมีสิ่งปลูกสร้างหรือไม่มีก็ได้ เช่น ในอดีตพระสงฆ์ได้นำก้อนหิน ก้อนมาวางไว้รอบๆ ตามทิศต่างๆ ทิศ แล้วเข้าไปทำศาสนกิจภายในบริเวณนั้น ก็เรียกว่าเป็นเขตอุโบสถได้โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวอาคาร
สถาปัตยกรรมเป็นหนึ่งในศิลปะแขนงวิจิตรศิลป์ (Fine Arts) ซึ่งนอกจากจะถูกสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยแล้ว ยังมีหน้าที่อีกอย่างหนึ่งคือ เพื่อการชื่นชมหรือความงาม (สุชาติ เถาทอง, 2532) นับเป็นศิลปะที่มีวัตถุประสงค์ให้เกิดความงามด้วยการเห็น (ทัศนศิลป์)
สถาปัตยกรรม (Architecture) หมายถึง ศิลปะที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ใช้สอย เป็นรูปทรง กินเนื้อที่ มีปริมาตร เช่น ปิรามิดของชาวอียิปต์สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอย เพราะชาวอียิปต์เชื่อว่าเมื่อคนตายไปแล้ววิญญาณจะกลับมาเกิดอีก เขาจึงได้สร้างปิรามิดไว้สำหรับเก็บศพที่เรียกว่า มัมมี่” เพื่อให้วิญญาณได้ฟื้นกลับมาในรูปร่างเดิมและดำเนินชีวิตอย่างสุขสบาย
สถาปัตยกรรม หมายถึง งานที่ว่าด้วยการออกแบบแปลนอาคาร  การก่อสร้าง การวางผัง  การตกแต่งภายในภายนอกอาคาร ภายใต้หลักการการถ่ายเทของอากาศ แสง สี รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องรอบๆ และภายในอาคาร
ความหมายของศาสตร์ทางสถาปัตยกรรมนั้น ได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย บทความ De Architectura ของวิทรูเวียส ซึ่งเป็นบทความเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่ที่สุด ได้กล่าวไว้ว่า สถาปัตยกรรมต้องประกอบ ด้วยองค์ประกอบสามส่วนหลักๆ ที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวและสมดุล อันได้แก่ความงาม (Venustas) ความมั่นคงแข็งแรง (Firmitas)และประโยชน์ใช้สอย (Utilitas)
สถาปัตยกรรม เป็นผลงานศิลปะที่แสดงออกด้วยการก่อสร้างอาคาร ที่อยู่อาศัยต่างๆ การวางผังเมือง การจัดผังบริเวณ การตกแต่งอาคาร การออกแบบก่อสร้าง ซึ่งเป็นงานศิลปะ ที่มีขนาดใหญ่ต้องใช้ผู้สร้างงานจำนวนมาก และเป็นงานศิลปะที่มีอายุยืนยาว
สถาปัตยกรรม คือวิธีการจัดสรรบริเวณที่ว่างให้เกิดประโยชน์ใช้สอยตามความต้องการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ ศาสตร์ในสาขาต่างๆ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา และศิลปะ ความงดงาม
คุณค่าของสถาปัตยกรรม ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ดังนี้ คือ
1.การจัดสรรบริเวณที่ว่างให้สัมพันธ์กันของส่วนต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก
2.การจัดรูปทรงทางสถาปัตยกรรมให้เหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอย และสิ่งแวดล้อม
3.การเลือกใช้วัสดุให้เหมาะสมกลมกลืน
สถาปัตยกรรมแบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ
1. ชนิดที่สร้างขึ้นเพื่อให้มนุษย์เข้าไปอาศัยอยู่ หรือประกอบกิจกรรมต่างๆ เช่น อาคาร บ้านเรือน โบสถ์ วิหาร ศาลา ฯลฯ
2. ชนิดที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ เช่น อนุสาวรีย์ เจดีย์ สะพาน เป็นต้น
จึงสามารถสรุปได้ว่าสถาปัตยกรรมคือการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่เกี่ยวกับการออกแบบถิ่นที่อยู่อาศัยทั้งภายใน ภายนอกให้เกิดความงาม ความมั่นคงแข็งแรงและประโยชน์ใช้สอย รวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมและดำเนินการแก้ไขปัญหาของสภาพแวดล้อม วิเคราะห์ผลกระทบของการพัฒนา กำหนดการใช้สอยของภูมิทัศน์ต่างๆ เพื่อความสมดุลต่อการใช้งานของมนุษย์และความสมบูรณ์ของธรรมชาติอย่างยั่งยืน
ภูมิสถาปัตยกรรม

ภูมิสถาปัตยกรรม (Landscape Architecture) หมายถึงออกแบบวางแผน การอนุรักษ์และจัดการพื้นที่ใช้สอยภายนอกอาคาร รวมทั้งพื้นที่บางส่วนภายในหรือบนดาดฟ้าอาคาร เพื่อความผาสุก สวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน อาจครอบคลุมตั้งแต่การสร้างสวนสาธารณะและถนนอุทยานไปจนถึงการวางผังบริเวณกลุ่มอาคารสำนักงาน จากการออกแบบที่พักอาศัยไปจนถึงการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานของเมืองและการจัดการพื้นที่ธรรมชาติขนาดใหญ่ หรือการฟื้นฟูภูมิทัศน์ที่เสียหาย เช่น เหมืองแร่เก่า บริเวณฝังกลบขยะ
การจัดสภาพแวดล้อมธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นควรเป็นไปอย่างกลมกลืนและสมดุล จะเห็นได้ว่าการตั้งถิ่นฐานของคนไทยในอดีต ไม่ได้คำนึงถึงความสวยงามทางสภาพแวดล้อม ใครนึกอยากจะปลูกเรือนตรงไหน ก็ปลูก การเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้ในการเกษตรก็เลี้ยงใต้ถุนบ้าน คนไทยไม่ได้คำนึงในเรื่องของความสวยงาม การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ถูกสุขลักษณะ ชาวบ้านส่วนใหญ่โดยเฉพาะในชนบทจะนึกถึงความจำเป็นของปากท้องเป็นหลัก แต่ต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีอารยธรรมเก่าแก่ จะเห็นความสำคัญของการจัดสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมาก
ภูมิสถาปัตยกรรม ยังครอบคลุมถึง การวางผังโครงการ งานที่พักอาศัยส่วนบุคคลและงานสาธารณะ การออกแบบผังโรงเรียน มหาวิทยาลัยและโรงแรม สวนสาธารณะ สนามกอล์ฟ สวนสนุกและสนามเล่นกีฬาต่างๆ บริเวณโครงการเคหะ นิคมอุตสาหกรรมและโครงการเชิงการค้า ทางหลวง โครงสร้างทางการขนส่ง สะพานและทางผ่าน ลานเมืองและลานชุมชนและระบบทางเดินเท้า โครงการฟื้นฟูชุมชนเมืองขนาดเล็กและใหญ่  ป่า แหล่งท่องเที่ยว ภูมิทัศน์ประวัติศาสตร์ และการประเมินทางภูมิทัศน์หรือการศึกษาด้านการอนุรักษ์ภูมิทัศน์วัฒนธรรม (Cultural Landscape) อ่างเก็บน้ำ เขื่อน สถานีไฟฟ้า บ่อขุดวัสดุทางอุตสาหกรรมหรือโครงการทางอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมทั้งบริเวณบริการนักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ การประเมินสภาพแวดล้อม การให้คำปรึกษางานวางแผนภูมิทัศน์และการทำข้อเสนอในการจัดการผืนแผ่นดิน โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งและเกาะ
คุณค่าที่สำคัญที่สุดของภูมิสถาปัตยกรรม มักเกิดขึ้นในช่วงแรกของการวางผังแม่บทโครงการ ช่วงที่อยู่ในระหว่างการระดมความคิดในการกลั่นกรองสิ่งที่ดีที่สุดเกี่ยวกับการสร้างสรรค์การจัดการพื้นที่ใช้สอย

ศิลปะกับการท่องเที่ยวและเมืองน่าอยู่
จากความหมายของศิลปะ สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม จะเห็นได้ว่าทุกอย่างมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับศิลปะการท่องเที่ยวและแหล่งมรดกทางอารยะธรรม การท่องเที่ยวในปัจจุบันได้นำเอาศิลปะและความสวยงามของสถาปัตยกรรมเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชมความสวยงามของศิลปะ สถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์อันสวยงาม จึงเห็นได้ว่าแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำหลายแห่งได้จัดสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ความเป็นมาและอารยธรรมของสถานที่ ท่องเที่ยวนั้นๆ รวมทั้งผู้นักท่องเที่ยวผู้ที่ชื่นชอบการเดินทางเพื่อเยี่ยมชมความงามของแหล่งธรรมชาติและวิถีชีวิตของผู้คนในสถานที่เหล่านั้นที่เจ้าของชุมชนและหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ร่วมกันอนุรักษ์และถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะ วัฒนธรรมพื้นบ้าน วัฒนธรรมท้องถิ่นและแหล่งมรดกต่างๆ  โดยอาจจัดแสดงไว้ตาม แกลเลอรีหรือจัดเป็นกิจกรรมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมในแหล่งท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวได้รับความรู้ไปพร้อมๆ กับความเพลิดเพลิน นับว่าเป็นการพักผ่อนหย่อนใจที่ได้รับประโยชน์ในแง่ของสมองและจิตใจเป็นอย่างยิ่ง จะเห็นได้ว่าศิลปะมีความสำคัญในการช่วยจรรโลงจิตใจ รวมทั้งยังช่วยส่งเสริมอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนในแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ อีกด้วย

ประเภทของแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปะ วัฒนธรรม และแหล่งมรดก
แลนด์มาร์กและอนุสรณ์สถาน (Landmarks and memorials) เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นำเสนอจุดเด่นของแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ความเป็นมาของสถานที่โดยไม่จำเป็นต้องใช้เวลานาน อาทิ โบราณสถานและสถาปัตยกรรมอันเก่าแก่แบบโกธิค เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมของออสเตรีย (Austria's World Cultural Heritage Sites):
พิพิธภัณฑ์ (Museums) เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทำให้เข้าถึงและเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับความเป็นมาของสถานที่นั้นๆ ซึ่งเป็นผลพวงแห่งความสว่างทางปัญญา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ให้นักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้อย่างเพลิดเพลิน เช่นพิพิธภัณฑ์ในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียซึ่งในยุคก่อนจะเป็นแค่การสะสมศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล ไม่ได้เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าชมจนศตวรรษที่ 18 ผู้คนถึงเริ่มตระหนักในความสำคัญของการศึกษารูปแบบใหม่ทีละน้อยๆและเปิดของสะสมให้ผู้ชมในวงกว้าง ออสเตรียเริ่มพัฒนาการด้านนี้อย่างจริงจังในสมัยจักรพรรดิฟรานซ์ที่ 1
บ้านโบราณ (Historical Houses) เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทำให้ได้สัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนที่อยู่ในย่านนั้นมาแต่ก่อนเก่าผ่านบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง และการตกแต่งที่สะท้อนถึงเรื่องราวในอดีตกาล
สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และอนุสาวรีย์ (Historical sites & monuments) เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องราวของอดีตในพื้นที่จริง ซึ่งปัจจุบันได้รับการฟื้นฟูให้กลับมามีสภาพคล้ายของดั้งเดิมที่สุด สำหรับอนุสาวรีย์ก็คือจารึกทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในรูปแบบของสิ่งก่อสร้าง ซึ่งมีเรื่องราวให้ศึกษาอย่างลึกซึ้ง
ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม (Art & craft Centres) เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทำให้ได้รู้จักวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชน ในสถานที่ที่จัดนิทรรศการเรื่องราวและแสดงงานศิลปหัตถกรรมของผู้คนในชุมชนออกมาอย่างมีชีวิตชีวา
อาร์ตแกลเลอรี (Art Galleries) เป็นสถานที่ที่ทำให้ได้รู้จักวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชน ผ่านมุมมองและแนวคิดหลากหลายของศิลปิน ในรูปแบบของศิลปะที่จัดแสดงไว้เป็นหมวดหมู่
สถานที่ที่เกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 2 (World war II sites) เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สะท้อนให้เห็นถึงผลพวงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งบัดนี้ยังเหลือร่องรอยแห่งความทรงจำครั้งนั้นอยู่ในพื้นที่ที่เคยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ
พระราชวัง (Royal Palaceเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ซึ่งสะท้อนผ่านพระราชวังอันวิจิตรงดงาม ในรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นหนึ่งเดียว






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น