วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

การตั้งถิ่นฐานของชุมชนก่อนเมืองสุโขทัย


                                     การตั้งถิ่นฐานของชุมชนก่อนเมืองสุโขทัย


บริเวณที่ราบตอนล่างของลุ่มแม่น้ำยม ปิง น่าน ที่ราบลุ่มแม่น้ำเมย และที่ราบตอนบนของแม่น้ำป่าสัก เคยเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนคนไทยมานานก่อนการเกิดขึ้นของเมืองสุโขไทและเมืองอื่นๆ ซึ่งเจริญรุ่งเรืองต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๑ ตามสภาพทางภูมิศาสตร์แล้ว บริเวณนี้ตั้งอยู่ระหว่างอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่และเจริญมาก่อน นั่นคืออาณาจักรพุกามทางด้านตะวันตกและอาณาจักรเขมรในด้านตะวันออก
          หลักฐานโบราณคดีจากแหล่งโบราณคดีหลายแห่งในพื้นที่นี้ เป็นประจักษ์พยานถึงระยะเวลาอันยาวนานของการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในบริเวณนี้มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นต้นว่า เครื่องมือหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบที่แหล่งโบราณคดีเขาเขนเขากา อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก และพบที่แหล่งเขากะล่อน อำเภอขาณุวรลักษ์บุรี จังหวัดกำแพงเพชร โครงกระดูกมนุษย์โบราณ จากแหล่งโบราณคดีบ้านบึงหญ้า อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์เหล่านี้ อาจอยู่ต่อเนื่องกันและตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นในเวลาต่อมา จนกระทั่งถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา ได้มีการติดต่อกับดินแดนอื่นแถบบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีวัฒนธรรมแบบทวารวดี เป็นต้นว่าได้พบโบราณวัตถุที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับโบราณวัตถุในวัฒนธรรมทวารวดี ได้แก่ การค้นพบลูกปัด เครื่องมือเครื่องใช้เหล็ก สำริด เงินเหรียญที่มีรูปพระอาทิตย์ ในแหล่งต่างๆในพื้นที่นี้ ตลอดจนการพบชั้นวัฒนธรรมที่มีโครงกระดูกมนุษย์อยู่ร่วมกับหลักฐานที่เป็นแท่งดินเผามีลวดลาย อันเป็นโบราณวัตถุที่พบในแหล่งวัฒนธรรมทวารวดีในที่อื่นๆ จากการขุดค้นที่วัดชมชื่น ในเขตศรีสัชนาลัย สุโขทัย
          การค้นพบโบราณสถานที่เรียกกันมาว่า ปรางค์ปู่จา ซึ่งมีลักษณะตามแบบปรางค์ในศิลปกรรมเขมร ตั้งอยู่บนภูเขาเตี้ย ๆ ลูกหนึ่ง ในแถบบ้านนาเชิง อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย เป็นหลักฐานแสดงถึงการเข้ามาของวัฒนธรรมเขมรโบราณที่สำคัญ หากคิดว่าวัฒนธรรมเขมรผ่านเข้ามาทางเมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เมืองดงแม่นางเมือง จังหวัดนครสวรรค์ แสดงว่าดินแดนที่ต่อมาเป็นเมืองในขอบขัณฑสีมาของสุโขทัยนี้ได้เคยมีการติดต่อกับอาณาจักรเขมรโบราณมาไม่น้อยกว่าพุทธศตวรรษที่ ๑๗ แล้ว
          การแผ่กระจายของวัฒนธรรมเชขมรปรากฏเต่อเนื่องเรื่อยมานับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗ จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ หลักฐานสำคัญที่เด่นชัด ได้แก่ ศาลตาผาแดงและประติมากรรมที่พบในศาลตาผาแดงแห่งนี้ ในเขตเมืองโบราณสุโขทัย แสดงลักษณะศิลปกรรมร่วมสมัยกับสมัยนครวัด ในศิลปะเขมรเมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในอาณาจักรเขมรเมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ รับเอาพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเป็นศาสนาหลักในราชอาณาจักรของพระองค์ การสร้างเทวสถานเพื่อประดิษฐานรูปเคารพในศาสนาฮินดูแบบเดิมเริ่มเปลี่ยนแปลงไป มีการนำเรื่องตามพุทธประวัติมาแสดงไว้ในสถาปัตยกรรมและประดิษฐานพระพุทธรูปและรูปพระโพธิสัตว์และอื่นๆ ตามคตินิยมในฝ่ายมหายาน ลักษณะดังกล่าวนี้ปรากฏขึ้นที่สถาปัตยกรรมโบราณในประเทศไทยที่เคยได้รับอิทธิพลเขมรในช่วงเวลานี้ ได้แก่ ปรางค์สามยอดและปรางค์วัดมหาธาตุที่จังหวัดลพบุรี ปราสาทวัดพระพายหลวงนอกกำแพงเมืองสุโขทัยด้านเหนือ
          ชุมชนคนไทยในบริเวณสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร-พิษณุโลก-ตาก ฯลฯ หรือพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งรับเอาวัฒนธรรมเขมรส่วนหนึ่ง ทั้งที่มาจากอิทธิพลทางการเมือง ศาสนาและศิลปกรรม ได้ตั้งชุมชนและพัฒนาบ้านเมืองสืบต่อกันมา แต่ยังมิได้รวมกันเป็นปึกแผ่น หรือเป็นรัฐที่เป็นเนื้อเดียวกัน จนกระทั่งในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ จึงปรากฏหลักฐานการรวมตัวกันขึ้นเป็นรัฐอิสระและราชอาณาจักรที่มีสุโขทัยเป็นแกนหลัก หรือเป็นราชธานีที่สำคัญของชุมชนคนไทยในบ้านเมืองน้อยใหญ่เหล่านี้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น