วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ฤดูน้ำหลากสมัยก่อน...กลายเป็นภัยพิบัติในสมัยนี้





                       ฤดูน้ำหลากสมัยก่อน...กลายเป็นภัยพิบัติในสมัยนี้



ในปี พ.ศ.2554 นี้ ผมเห็นสภาพน้ำท่วมในกว่า 60 จังหวัดของประเทศไทย  รู้สึกสงสารพวกเขาจริงๆ ผมคิดว่าผมเข้าใจถึงสภาพจิตใจของพวกเขาดีที่ต้องสูญเสียบ้านเรือน ทรัพย์สิน และพืชผลทางการเกษตร ที่เขาอุตส่าห์สร้างและปลูกมันขึ้นมา
 
ที่มาของภาพ : http://rb-old.blogspot.com/2010/09/2468_23.html

เหตุที่ผมคิดว่า ผมเข้าใจพวกเขาก็เพราะที่บ้านท่าเสาซึ่งเป็นบ้านของผมเอง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี  ในสมัยก่อน ก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนแถวเมืองกาญจนบุรี ชาวบ้านในแถบลุ่มแม่น้ำแม่กลองนี้ ก็จะต้องผจญกับน้ำท่วมเป็นประจำเกือบทุกปี  ซึ่งเรียกว่า "ฤดูน้ำหลาก"  เพราะเป็นพื้นที่ต่ำ  เมื่อถึงฤดูฝนน้ำในแม่น้ำแม่กลองก็จะล้นตลิ่ง ตั้งแต่บ้านท่าเสา ท่าแจ่ แถบทุ่งเขางู ทุ่งอรัญญิก  ต.บางสองร้อย  เกาะพลับพลา หนองกลางนา บางกระ ตลอดจนถึงธรรมเสน   จะกลายเป็นผืนน้ำติดต่อกันขนาดใหญ่คล้ายทะเลสาบ ก่อให้เกิดเทศกาลและประเพณีที่สำคัญ คือ ประเพณีการแข่งเรือ และการพายเรือไปเที่ยวงานเทศกาลปิดทองประจำปีถ้ำฤาษีเขางู  จนถึงวันนี้ งานเทศกาลปิดทองถ้ำฤาษีเขางูก็ยังคงจัดกันอยู่  แต่เปลี่ยนเป็นการขับรถไปเที่ยวแทนการพายเรือ  

เตรียมรับฤดูน้ำหลาก
ตอนผมยังเป็นเด็ก บ้านผมเป็นบ้านทรงไทยใต้ถุนสูง ตามแบบของบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำ มีเรืออยู่ 4 ลำ ขนาดแตกต่างกันไป ชาวบ้านแถวนี้จะมีเรือประจำบ้านของตนเองเกือบทุกหลัง พอถึงใกล้ฤดูน้ำหลาก   ต่างก็จะนำเรือออกมาซ่อมแซม ชันยา  เตรียมเก็บข้าวของที่จำเป็น กักตุนอาหารและเครื่องปรุง  เตรียมแห  เตรียมตะคัด (ตาข่าย) ลอบ ไซ เบ็ดราวและอุปกรณ์ประมงอื่นๆ ไว้หาปลาในหน้าฤดูน้ำที่กำลังจะมาถึง 

แม้ว่าฤดูน้ำหลาก น้ำจะขึ้นสูงท่วมหัวของผม แต่ชาวบ้านก็ยังใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างปรกติสุข มีอาหารจากปลาและสัตว์น้ำ มาให้จับให้กินกันจนถึงหน้าบ้าน การเดินทางไปมาหาสู่ทำธุระก็ใช้เรือเป็นพาหนะ ฤดูน้ำหลากประมาณ 2-3 สัปดาห์ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้พวกเขาเหล่านี้เลย  เพราะเขารู้ว่ามันเป็นธรรมชาติที่จะต้องเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี   และมีการเตรียมการรับมือกับมันเป็นอย่างดี  คนในสมัยก่อนจึงไม่ได้รู้สึกว่า "น้ำท่วมเป็นภัยพิบัติ"   

ฤดูน้ำหลากเป็นวิถีชีวิตตามปรกติ
เส้นทางการระบายน้ำในประเทศไทย ตามลักษณะภูมิประเทศแล้วจะไหลจากภาคเหนือลงมาภาคกลาง  และจากที่ราบสูงทั้งด้านซ้ายและขวาลงสู่ที่ราบต่ำตรงใจกลางประเทศ  เมื่อก่อนกรุงเทพและปริมณฑล  รวมถึงราชบุรีบ้านผมด้วย เคยเป็นทะเล  ดังนั้นจึงเป็นที่ราบต่ำ   น้ำเหนือจึงค่อยๆ ทยอยไหลลงมา และไหลออกสู่ทะเลไป  "ฤดูน้ำหลาก" จึงเป็นวิถีชีวิตตามปรกติของผู้คนในสมัยก่อน โดยเฉพาะแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำภาคกลางทั้งหมด  

ที่มาของภาพ
http://news.sanook.com/gallery/gallery/
1062437/243371/
หลายครั้งหลายครา ที่พระนครกรุงศรีอยุธยารอดพ้นจากการเสียกรุงฯ ก็เพราะฤดูน้ำหลากนี้เอง

ฤดูน้ำหลาก..กลายเป็นภัยพิบัติ
วันนี้ ผมลองนั่งทบทวนดูว่า ทำไม? จากฤดูน้ำหลากของคนไทยในสมัยก่อนซึ่งเป็นวิถีชีวิตตามปรกติ จึงได้กลายเป็นภัยพิบัติของคนไทยในสมัยนี้  มันเกิดขึ้นจากอะไร?
  • ต้นไม้ในป่าถูกตัด ถูกโค่น หักร้างถากถางพง ทำรีสอร์ท ปลูกยางพารา ฯลฯ  ขาดทั้งที่ซับน้ำชะลอน้ำ ขาดรากไม้คอยอุ้มดิน โคลนหินจึงถล่มกันทุกพื้นที่
  • ผังเมืองที่มักงาย ไร้ระเบียบ ขาดการควบคุม ถมดินสร้างบ้านจัดสรร สร้างตึก สร้างโรงงาน ขวางทั้งทางน้ำ และลดพื้นที่แก้มลิง   
  • ถนนหนทางสร้างกันตามอำเภอใจ ขาดการวางแผนเชื่อมโยง สร้างขวางทางน้ำไหล ท่อลอด สะพานข้าม ระบายน้ำไม่ทัน น้ำเอ่อล้นท่วมสูงข้ามถนน  สะพานขาด   ถนนพัง
  • การขุดลอก คูคลอง ห้วยหนองคลองบึง สำหรับการระบายและเก็บรักษาน้ำ ทั้ง อบจ. อบต. และเทศบาล ทำกันทุกปี แต่ก็ยังตื้นเขินเหมือนเดิม
  • น้ำเคยหลากมาและผ่านไปอย่างรวดเร็ว วันนี้กลับท่วมขังแสนนาน เพราะไม่มีทางให้น้ำเขาไป  บ้านเคยใต้ถุนโล่ง กลับกั้นผนังสร้างห้องอยู่กับพื้นดิน 
  • สภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงของโลก ทำให้ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง โดยยากที่จะพยากรณ์ได้ ทำให้หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ขาดข้อมูลที่แม่นยำในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ
  • คนไทยเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิต จากสังคมธรรมชาติเป็นสังคมเมือง จึงทำให้ขาดความเข้าใจในธรรมชาติและขาดการเตรียมการรับมือกับธรรมชาติ 
  • ฯลฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น