วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

แนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมแบบยั่งยืน

แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแบบยั่งยืน
 [51224]
 
 
หากลองวิเคราะห์ปัญหาที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในบ้านเราที่กำลังประสพกันอยู่ก็จะพบว่าน่าจะมาจากสาเหตุต่างๆดังนี้ คือ

1.1 ปริมาณฝนที่ตกหนักถึงหนักมากติดต่อกันในช่วงฤดูฝน

1.2 การขยายตัวอย่างขาดการวางแผนของชุมชนเมืองต่างๆทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

1.3 การถมที่สร้างบ้านจัดสรรหรือขยายเมืองไปในทิศทางที่เป็นที่ต่ำหรือที่ลุ่ม

1.4 ขาดการวางแผนและการใช้มาตรการในการป้องปรามทางด้านกฎหมาย


แนวทางการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน

2.1 การแก้ปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่อดีตและดำรงอยู่ในปัจจุบัน

ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบ้านเรือน การขยายตัวของชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำสายสำคัญๆที่ในระยะหลังไม่ได้ปลูกบ้านมีใต้ถุนสูงเลยระดับน้ำหลาก แต่ไปนิยมชมชอบรูปแบบบ้านแบบยุโรปหรือตะวันตกโดยมิได้ตระหนักถึงปัญหาที่จะตามมาเมื่อมีการหลากล้นตลิ่ง หรือการถมที่สร้างบ้านจัดสรรหรือขยายเมืองไปในทิศ ทางที่เป็นที่ต่ำหรือที่ลุ่มซึ่งเป็นจุดอ่อนที่จะถูกน้ำท่วมได้ง่ายเมื่อเกิดฝนตกเนื่องจากประสิทธิภาพการระบายน้ำไม่ดีพอจะต้องใช้มาตรการต่างๆ ได้แก่

2.2 การป้องกันปัญหาที่เกิดจากปัจจัยภายนอกคือน้ำที่จะหลากเข้าท่วมโดยใช้มาตรการปิดล้อมพื้นที่หรือชุมชนที่ไม่ต้องการให้ถูกน้ำท่วมโดยการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมโดยรอบ ได้แก่ การก่อสร้างคันกั้นน้ำตามแนวลำน้ำหรือใกล้เคียง การยกระดับของถนนบางสายให้สูงกว่าระดับน้ำหลากสูงสุด รวมถึงการก่อสร้างประตูน้ำตามคู คลองต่างๆ เป็นต้น เพื่อปิดกั้นไม่ให้น้ำจากภายนอกเข้ามาในพื้นที่ป้องกันได้

2.3 การแก้ไขปัญหาที่เกิดจากปัจจัยภายในคือฝนที่ตกหนักลงในพื้นที่โดยตรงโดยการแก้ไขปรับปรุงระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพสามารถรองรับอัตราการไหลได้อย่างเหมาะสม และจัดหาพื้นที่บาง ส่วนสำหรับทำเป็นแก้มลิงหรือบึงพักน้ำฝนชั่วคราว พร้อมติดตั้งสถานีสูบน้ำเพื่อสูบน้ำระบายออกจากพื้นที่กรณีที่น้ำภายนอกสูงกว่าระดับน้ำภายในพื้นที่ป้องกัน

2.4 ให้มีการออกแบบและก่อสร้างคลองระบายน้ำหรือคลองผันน้ำสายใหม่เพื่อผันน้ำจากลำน้ำเดิมที่เคยไหลผ่านพื้นที่โดยตรงออกไปทิ้งยังจุดที่ต้องการ เพื่อมิให้เกิดการไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ป้องกัน

2.5 ให้มีการเร่งออกประกาศและบังคับใช้กฎหมายผังเมืองอย่างเคร่งครัด


การป้องกันปัญหาใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นการหามาตรการเพื่อเตรียมการป้องกันปัญหาดังนี้

-พื้นที่ที่อยู่ริมแม่น้ำ

1. ให้มีการยกร่างกฎหมายโดยอาจออกประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อกันเขตแม่น้ำสายสำคัญๆซึ่งในประเทศไทยมีอยู่ 25 ลุ่มน้ำเหมือนการเวณคืนที่เพื่อสร้างถนน โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มสองฝั่งแม่น้ำหรือย่านชุมชนที่คาดว่าจะมีการขยายตัวในอนาคตและมีโอกาสเกิดการหลากล้นตลิ่งเข้าไปท่วมได้ ส่วนความกว้างวัดจากแม่น้ำออกไปสุดแนวเขตเป็นระยะเท่าใดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ไป โดยกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตที่ยอมให้น้ำหลากท่วมได้(Flood plain)หรือจะเรียกว่าพื้นที่ควบคุมน้ำท่วม

2. ให้มีการก่อสร้างแนวคันดินกั้นน้ำที่มีความสูงเหนือระดับน้ำหลากสูงสุดตามแนวเขตพื้นที่ควบคุมที่ประกาศเพื่อป้องกันน้ำมิให้น้ำหลากท่วมพื้นที่ภายนอก

3. ให้มีการบังคับใช้กฎหมายควบคุมสิ่งปลูกสร้างที่จะเกิดขึ้นใหม่ในพื้นที่ควบคุม เป็นต้นว่า หากใครจะปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนหรือที่อยู่อาศัยจะต้องปลูกแบบยกพื้นมีใต้ถุนสูงพ้นระดับน้ำหลากสูงสุดที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ห้ามถมดินเพื่อก่อสร้างโดยเด็ดขาด เพื่อมิให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวด ล้อมและเพื่อให้ทุกคนรู้สภาพปัญหาของตัวเองและพร้อมที่จะยอมรับกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมกันนั้นก็จะได้เตรียมหาทางพึ่งพาตนเองซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหาแต่ละครั้งลงได้มาก

4. รณรงค์ให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกวดขันเพื่อให้มาตรการสัมฤทธ์ผลแบบยั่งยืนแทนการไล่ตามแก้ปัญหาดินพอกหางหมูแบบไม่รู้จบ

-การถมที่ต่ำหรือที่ลุ่มที่เป็นจุดอ่อนต่อการถูกน้ำท่วม

1. นำมาตรการทางด้านกฎหมายผังเมืองมาบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม โดยกำหนดให้พื้นที่ที่มีลักษณะดังกล่าวเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรม เป็นต้น

2. ห้ามมิให้มีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ให้แตกต่างไปจากสภาพเดิมโดยการถมที่ การปลูกสร้างบ้านเรือนให้ปลูกสร้างตามลักษณะทางกายภาพของพื้นที่เป็นหลัก เช่น ปลูกแบบมีใต้ถุนสูง เป็นต้น



อ้างอิงจากเว็บ http://www.engineer-thai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=404207&Ntype=4

ขอขอบคุณ ผศ.โชติไกร ไชยวิจารณ์

อ้างอิงรูปประกอบจาก http://www.oknation.net/blog/watlayan/2009/09/04/entry-2



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น